ไขข้อข้องใจ ออมเพิ่มกับ กบข. VS ออมใน(หุ้น)สหกรณ์ออมทรัพย์เลือกอันไหนดี ???
วันนี้ครูอาชีพดอทคอมนำบทความดีๆ มาฝากกันนะครับ ไขข้อข้องใจ สำหรับท่านที่สนใจการ ออมเพิ่มกับ กบข. VS ออมใน(หุ้น)สหกรณ์ออมทรัพย์เลือกอันไหนดี ???
ผู้เขียน จากเพจ Dr.MOney ได้โพสต์ไขข้อข้องใจ จากการที่มีโอกาสได้ไปสอนข้าราชการใหม่กระทรวงสาธารณสุขของอุบลราชธานีครับ หลังเรียนมีน้อง inbox มาถามตามหัวเรื่อง เลยขออนุญาตเอามาตอบทางหน้าเพจ เพราะน่าจะมีประโยชน์กับคนอื่นด้วย
ถ้าจะถามว่า ระหว่าง ออมเพิ่มกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) VS สหกรณ์ออมทรัพย์ เลือกอันไหนดี ก็ต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันก่อนครับ
ข้อดีการออมเงิน ทั้งกบข. และสหกรณ์ฯ
1. ออมก่อนใช้ และออมอัตโนมัติ
ทั้ง กบข และ สหกรณ์ฯ หักเงินเดือนเราไปออมให้ทุกเดือน ก่อนที่เงินจะเข้าบัญชีเสียอีก (เงินที่เราไม่เห็น คือ เงินที่เราไม่ได้ใช้ครับ)
…ข้อนี้ กบข.และ สหกรณ์ฯ เสมอกันครับ
2. ออมในอัตราก้าวหน้า
กบข.นั้นหักเงินไปออมเป็น % ของเงินเดือน ดังนั้นถ้าเงินเดือนเพิ่มจะถูกบังคับให้ออมเพิ่มอยู่แล้ว (ออมในอัตราก้าวหน้านั่นเอง) โดยเราสามารถเลือกอัตราการออมได้ตั้งแต่ 3-15% (บริการออมเพิ่ม) แต่ สหกรณ์ฯ นั้นอาจจะต้องไปดูรายละเอียดของแต่ละที่อีกที
แต่ Dr.MONey จะขอเล่าถึงสหกรณ์ฯ ของอุบลบ้านเฮาแล้วกันนะครับ
…สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุบลราชธานีจะบังคับให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการ ออมอย่างน้อย 8% ของเงินเดือน ดังนั้นถ้าเราออมในอัตรา 8% เมื่อเงินเดือนเพิ่มก็จะถูกบังคับให้ออมเพิ่ม (ออมในอัตราก้าวหน้าเหมือนกัน) แต่ถ้าเราระบุตัวเลขตายตัว เช่น ถ้าเราเงินเดือน 30,000 บาท แต่ขอออมเดือนละ 3,000บาท ซึ่งมากกว่า 8% ของเงินเดือนเรา เราก็จะถูกหัก 3,000บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าเงินเดือนเราจะเพิ่มจนกระทั่ง 8%ของเงินเดือนมันมากกว่า 3,000บาท ถึงจะถูกบังคับให้ออมเพิ่มจนถึง 8% ครับ
…ข้อนี้ Dr.MOney ให้ กบข.และ สหกรณ์ฯ เสมอกันครับ
3. การลงทุน, ผลตอบแทน และ ความเสี่ยง
การออมกับ กบข.จะได้ผลตอบแทนจาก 2 ส่วน ได้แก่ เงินที่รัฐบาลสมทบให้ 3+2 = 5% และ ผลตอบแทนจากการเอาเงินออมของเราและเงินสมทบจากรัฐบาลไปลงทุน ซึ่งอย่างที่ Dr.MOney เล่าให้ฟังว่า กบข.นำเงินเราไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินหลากหลายประเภท ทั้งตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศไทย
ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในลักษณะนี้จะมีความผันผวนของผลตอบแทนมากกว่าสหกรณ์ฯ แน่นอน แต่ก็มีข้อดีที่เราสามารถเลือกแผนการลงทุนเองได้ ทำให้มีโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้แก่เงินออมของเราได้ครับ
ความเห็นส่วนตัว Dr.MOney คือ ถ้าเราเลือกแผนการลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นเยอะ เช่น แผนสมดุลตามอายุ หรือ แผนผสมหุ้นทวี ผลตอบแทนระยะยาวที่ได้เมื่อรวมกับเงินสมทบจากรัฐบาลแล้ว ถ้าผลตอบแทนสหกรณ์ค่อนข้างคงที่ไปเรื่อยๆ เท่ากับในปัจจุบัน (ถ้าของอุบลฯ คือ 6% +/- นิดหน่อย)
… ข้อนี้ Dr.MOney คิดว่า กบข.น่าจะชนะครับ
ส่วนการออมกับ หุ้นสหกรณ์ฯ จะได้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในแต่ละปีเป็นหลักครับ ซึ่งสหกรณ์นั้นมีการดำเนินงานคล้ายธนาคาร คือ เอาเงินออมของสมาชิกไปปล่อยกู้ให้สมาชิก แล้วได้กำไรมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สมาชิกทยอยชำระหนี้เงินกู้มา (จริงๆ คือ หักจากบัญชีเงินเดือนเหมือนกัน NPL จึงต่ำมาก) ดังนั้นสหกรณ์จะมีข้อจำกัดในเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม(ซึ่งจะเพิ่มกำไร)เพราะพันธกิจหลักคือการดูแลสมาชิก จะคิดดอกเบี้ยแพงมากๆ ไม่ได้ เพราะสมาชิกที่กู้จะเดือดร้อน
แต่ถ้าดูจากอดีตที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนของสหกรณ์ไม่ค่อยผันผวนมากนัก ซึ่งก็อาจดีต่อใจสำหรับบางคนที่รับมือกับความผันผวนไม่ค่อยได้ครับ
ความเสี่ยงของ กบข.คือ ความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งจะมีมากน้อยต่างกันไปในแต่ละปี และอาจถึงกับขาดทุนได้บ้าง ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของโลกอย่างที่ กบข.เคยขาดทุนมาแล้วปี 51 (แต่ปีถัดมาก็กลับมากำไรเหมือนเดิมนะครับ) ส่วนความเสี่ยงเรื่อง กบข.จะล้มนี่ Dr.MOney คิดว่าโอกาสเกิดค่อนข้างน้อยมาก เพราะ กบข.มีรัฐบาลคอยค้ำชูอยู่ครับ
ส่วนความเสี่ยงของ สหกรณ์ฯ คือ 1.) กรณีที่สมาชิกออมเยอะจนไม่สามารถปล่อยกู้ได้หมด จะทำให้ต้องไปหาการลงทุนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนมาปันผลให้แก่สมาชิก ซึ่ง การลงทุนอื่นๆ นี่คือความเสี่ยงครับ (ยกตัวอย่างเช่น หลายสหกรณ์เอาเงินไปลงทุนกับเครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แล้วสูญเงินไปครับ) และ 2.) กรรมการสหกรณ์โกงเงินแล้วหนีไป เรื่องแบบนี้ฟังดูเหมือนไม่น่าจะเกิด แต่จริงๆ มีข่าวลักษณะแบบนี้มาเป็นระยะๆ (แม้ Dr.MOney ไม่ได้ติดตามมาก แต่ 1-2ปี ก็จะได้ยินเรื่องแบบนี้สักทีครับ)
เรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงนี้ ทั้ง กบข.และ สหกรณ์ มีข้อดีข้อเสียครับ ดังนั้น Dr.MOney ขอไม่ตัดสินครับ
4. การปกป้องความเสี่ยงจากตัวเราเอง
ศัตรูที่ร้ายที่สุดสำหรับการเก็บเงินระยะยาวๆ (เช่น เก็บเงินเกษียณ) ก็คือตัวเราเองครับ !!!
1. ถ้าจะออกจาก กบข.จะต้องลาออกจากราชการเท่านั้น และถ้าทำงานมาไม่ถึง 25ปี ก็จะได้เงินคืนแค่ เงินออมของเรา และผลตอบแทนจากเงินออมของเรา ไม่ได้เงินที่รัฐบาลสมทบและผลตอบแทนจากเงินสมทบครับ (หายไปเยอะนะนั่น)
2. ส่วนถ้าจะออกจาก สหกรณ์ฯ ก็แค่ไปลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งสำหรับสหกรณ์ฯ
อุบลฯ จะถูกตัดสิทธิในการสมัครสมาชิกไปอีก 2 ปี (กฎระเบียบนี้ แต่ละสหกรณ์อาจแตกต่างกันไปนะครับ)
ข้อนี้ Dr.MOney ให้ กบข.ชนะครับ (ลาออกจาก กบข.ต้องคิดเยอะกว่าเยอะ)
สรุป คือ จากการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียทั้งหมดแล้ว น้องคนถามก็ต้องไปตัดสินใจเองครับ (อ้าว…555) แต่ Dr.MOney อยากให้เติมทางเลือกที่ 3 และ 4 เข้าไปด้วย คือ แบ่งเงินไปออมทั้งสองที่เลย และ ศึกษาการออมและลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกครับ การใส่ใจเงินทองของตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของความร่ำรวยครับ
ขอบคุณบทความดีๆ และติดตามสาระความรู้เพิ่มเติมได้ จากเพจ Dr.Money
สรุป อ่านมาทั้งหมดไม่ได้ช่วยอะไรเลย ต้องมานั่งเดาเอาเองอีก